go



chuwit
วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2546


ข่าวหน้าหนึ่ง

บทบรรณาธิการ

ทัศนะวิจารณ์

เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจการเงิน

ธุรกิจการตลาด

การเมือง

กรุงเทพไอที

ไอที-อินเทอร์เน็ต

คุณภาพชีวิต

นวัตกรรม

ต่างประเทศ

กีฬา

จุดประกาย



เสาร์สวัสดี
จุดประกายวรรณกรรม

กรุงเทพวันอาทิตย์

@Taste

กรุงเทพ Auto

SciTech

Biz & Money

เนชั่นสุดสัปดาห์

ไขปัญหาภาษี



มองมุมใหม่ : 2 ประเทศ 1 ระบบเศรษฐกิจ

ผศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ Banomyong@thammasat.net
ผมได้มีโอกาสติดตามคณะรองนายกฯ ดร.สมคิด ไปสิงคโปร์ เพื่อประชุม ในเรื่องของความร่วมมือ ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ภายใต้กรอบของ STEER (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relation) ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญ ด้านลอจิสติกส์ โดยมีท่านนายก สมาคมธุรกิจ รับจัดการขนส่งสินค้า ระหว่างประเทศหรือ TIFFA ร่วมเดินทางไปด้วย

STEER นั้นเป็นแนวความคิดที่เริ่มมาจากทางผู้บริหารของทั้งไทย และสิงคโปร์ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ทั้งสองประเทศควรที่จะมีความร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันทั้งสองประเทศจะมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบของ ASEAN อยู่แล้วก็ตาม แต่น่าจะเป็นการดี หากทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่มากกว่าความร่วมมือภายใต้กรอบของ ASEAN และมีความรู้สึกที่ว่าประเทศทั้งสองมีระดับของการพัฒนาค่อนข้างที่จะก้าวหน้ากว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

ดังนั้น แนวความคิดในเรื่องของ 2 ประเทศ 1 ระบบเศรษฐกิจ จึงเกิดขึ้นมา

ผมจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ไทยควรจะมีระบบเศรษฐกิจแบบสิงคโปร์ หรือสิงคโปร์ควรจะมีระบบเศรษฐกิจแบบไทยกันแน่ เพราะหากว่า ไทยจะต้องใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสิงคโปร์แล้วก็หมายความว่า ระบบการค้าทุกอย่างของไทยจะต้องเปิดเสรีทั้งหมด ซึ่งก็ต้องกลับมาถามตัวเราเองว่า ไทยนั้นพร้อมพอหรือยังที่จะมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดเสรี

นอกจากนี้ ก็ยังจะมีการเจรจาว่าด้วยเรื่องของเงื่อนไข 51/49 ซึ่งเป็นการพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้น โดยในปัจจุบันบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยไม่สามารถที่จะถือหุ้นได้สูงกว่า 49% แต่ทางสิงคโปร์นั้นต้องการให้ไทยเปิดโอกาสให้บริษัทจากสิงคโปร์สามารถถือหุ้นได้มากกว่า 49% สำหรับบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจด้านลอจิสติกส์

สำหรับไทยเอง ก็ได้มีการส่งหนังสือให้กับทางสิงคโปร์ก่อนที่จะมีการเจรจา โดยเนื้อหาการเจรจาก็จะมีความคล้ายคลึงกันหลายเรื่อง อาทิเรื่อง ของการเพิ่มระดับความร่วมมือระหว่างสถาบันที่มีการสอนเรื่องลอจิสติกส์ และระหว่างสมาคมวิชาชีพลอจิสติกส์ระหว่างสิงคโปร์กับไทย เป็นต้น

รูปแบบของการประชุมนั้น เมื่อเริ่มประชุมก็จะเป็นการพูดคุยกันในเรื่องของภาพรวมก่อน จากนั้นก็จะมาลงในแต่ละหัวข้อของการเจรจาที่กำหนดไว้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้แตกต่างจากการประชุมที่ผมเคยผ่านมา ก็เพราะว่า เมื่อถึงหัวข้อในการเจรจาแต่ละประเด็น ผู้ที่รับผิดชอบในประเด็นนั้นๆ ทั้งของไทย และสิงคโปร์จะลุกออกไปจากห้องเพื่อไปทำการประชุมกันเอง

ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงเรื่องของศุลกากร ตัวแทนศุลกากรของทั้งสองประเทศก็จะขออนุญาตไปเจรจากันเป็นส่วนตัว ซึ่งตัวแทนด้านลอจิสติกส์เองก็เช่นเดียวกัน

เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาด้านลอจิสติกส์แยกตัวออกมาพูดคุยกัน ทางไทยก็สังเกตเห็นว่า ทางฝ่ายสิงคโปร์นั้น บุคคลที่มาเจรจาด้วยไม่ใช้บุคคลที่ทำงานทางด้านลอจิสติกส์เลย ซึ่งผิดกับที่ได้เสนอชื่อมาว่า จะเป็นตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพลอจิสติกส์ของสิงคโปร์ แต่กลับเป็นตัวแทนของ IE หรือ International Enterprise

ซึ่งก็สร้างความประหลาดใจให้กับทางฝ่ายไทยไม่น้อย เพราะทางไทยนั้นก็รู้จักกับบุคคลที่ทำงานด้านลอจิสติกส์ของสิงคโปร์ และยังมีการติดต่อพูดคุยกันเสมอๆ จึงได้มีการสอบถามถึงความเป็นมาของ IE ในสิงคโปร์ และก็พบว่า IE นั้นเป็นหน่วยงานของรัฐ หน้าที่หลักก็จะเป็นการสนับสนุนการไปลงทุนของบริษัทสิงคโปร์ในต่างประเทศ ซึ่งทางสิงคโปร์เองนั้นได้เล็งเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่น่าจะเข้ามาลงทุน จึงได้ส่ง IE มาเป็นผู้เจรจาแทน

สำหรับประเด็นที่ทางไทยยกขึ้นมาพูดคุย ก็เป็นเรื่องของแนวทางการร่วมมือกันระหว่างสถาบัน และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับลอจิสติกส์ของไทยกับของสิงคโปร์ว่า ควรที่จะเป็นไปในรูปแบบใด เพื่อที่จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถของทั้งสองประเทศ

สิงคโปร์นั้นถือได้ว่าเป็น Logistics Hub ของภูมิภาคนี้ แต่ไทยเองนั้นก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็น Gateway สำหรับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง หากว่าทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกัน ก็จะเป็นการสร้าง Synergy ให้เกิดขึ้น อาทิเช่น ในระยะสั้น ทางไทยก็เสนอให้ทางสิงคโปร์มีการส่งผู้เชี่ยวชาญลอจิสติกส์เข้ามาถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ให้กับผู้ประกอบการหรือนักวิชาการชาวไทย (Training of Trainers)

ส่วนในระยะยาวนั้นก็จะเป็นการร่วมกันกำหนดกลยุทธ์สำหรับการวิจัย และพัฒนาร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งทางสิงคโปร์ก็มีความเห็นชอบกับหลักการที่ทางไทยเสนอไปให้

สำหรับทางสิงคโปร์ก็ได้ยกประเด็นของเงื่อนไข 51/49 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเจรจากับไทย โดยที่ทางสิงคโปร์นั้นต้องการให้ไทยเปิดเสรีในส่วนของธุรกิจลอจิสติกส์ และสามารถที่จะถือหุ้นได้มากกว่า 51% ซึ่งตัวแทนจากไทยก็ได้มีการอธิบายเหตุผลให้กับทางสิงคโปร์เพื่อรับทราบว่า ตัวแทนของไทยที่เข้ามาเจรจาในครั้งนี้ไม่ใช่ตัวแทนของรัฐที่จะสามารถมาพูดคุยหรือตัดสินใจเรื่องนี้ได้ แต่สามารถที่จะให้ข้อมูลกับทางสิงคโปร์ได้แทน

และอธิบายต่อไปว่า ในไทยนั้นก็มี BOI ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับคลังจัดเก็บสินค้า สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในส่วนของการขนส่งนั้น ยังไม่มีการให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้

แต่ก็ไม่ใช่ว่าไทยนั้นมีการปิดกั้น แต่คำจำกัดความของลอจิสติกส์นั้นมีความหลากหลาย และยังไม่ได้ถูกกำหนดออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งผมเองก็ได้เสนอล่วงหน้าก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้นแล้วว่า ทั้งสองฝ่ายควรที่จะมีการตกลงถึงคำนิยามหรือขอบเขตของลอจิสติกส์ที่จะเป็นประเด็นในการเจรจาครั้งนี้กันก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนระหว่างที่การเจรจากำลังดำเนินอยู่

นอกจากนี้ ผมก็สังเกตเห็นว่า ตัวแทนของทางฝ่ายสิงคโปร์ที่เข้ามาร่วมเจรจา มีตำแหน่งเป็นรองปลัด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างสูง แต่อายุยังค่อนข้างน้อย จึงได้สอบถามและได้คำตอบว่า สิงคโปร์นั้นประชากรมีน้อยจึงทำให้สัดส่วนของข้าราชการน้อยตามไปด้วย

ทางสิงคโปร์เอง จึงได้ออกนโยบายว่า ข้าราชการที่อายุ 30 ปีขึ้นไป จะต้องมีการสอบแข่งขันเพื่อประเมินประสิทธิภาพ และจะใช้ผลการสอบนี้ใช้ในการพิจารณาการเลื่อนขั้น ทำให้ในระบบราชการของสิงคโปร์ จะพบเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ง่ายขึ้น

และผมก็เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ของสิงคโปร์ โดยจากการที่ทั้งสองประเทศมีความคิดร่วมกันว่าจะมีนโยบาย " 2 ประเทศ 1 ระบบเศรษฐกิจ " นั้น ไทยน่าจะเริ่มโดยการนำระบบข้าราชการของสิงคโปร์นี้มาลองใช้ดูบ้าง เพื่อที่ว่าคนไทยอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบข้าราชการไทยไปในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

จากการได้ไปร่วมประชุมระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ก็มีประเด็นหลักๆ อยู่สองเรื่อง คือ ประเด็นแรกเป็นเรื่องของการเพิ่มความร่วมมือของสถาบันที่มีการเรียนการสอนเรื่องลอจิสติกส์ และสถาบันวิชาชีพลอจิสติกส์ของทั้งสองประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนา

ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า ควรที่จะมีการวางแผนในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ร่วมกันกำหนดไว้ อาทิ จัดอบรม Training of Trainers ขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีระหว่างกัน เป็นต้น ส่วนประเด็นที่สองก็เป็นเรื่อง ของเงื่อนไข 51/49 ที่ทางสิงคโปร์ เป็นผู้หยิบยกขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปได้

นอกจากนี้แล้วก็ยังได้ไปรับรู้ถึงระบบการทำงานใหม่ๆ ของสิงคโปร์ โดยเฉพาะระบบราชการที่หากมีการนำมาประยุกต์ใช้ในไทยได้ ก็น่าจะเป็นการยกระดับระบบราชการไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจุดนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายระหว่างไทยกับสิงคโปร์ที่ว่า " 2 ประเทศ 1 ระบบเศรษฐกิจ " และเป็นการทดลองดูว่า นโยบายนี้จะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่


กรุงเทพทัศนะ
เวทีสาธารณะสำหรับ การ แสดงความคิดเห็น ผู้อ่านสามารถ ส่งบทความพิเศษ รายงานพิเศษ รายงานการวิจัย รายงานจากภาคสนาม เรื่องราวร้องทุกข์ หรือ จดหมาย มาได้ที่นี่
ชื่อคุณ :
หัวข้อ :
ข้อความ :

หัวข้อ 5 อันดับ ล่าสุด
sql error : select * from boko_top order by top_num DESC limit 5