![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() ![]() |
![]() |
![]() | ||
![]() |
|
![]() |
![]() มองมุมใหม่ : มองโกเลีย โอกาสทางการค้าของธุรกิจไทย ผศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์
ผมได้เดินทางไปที่ประเทศนี้ ตามโครงการความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ โดยโครงการนี้จะเป็นการศึกษาประเทศที่ไม่มีเส้นทางออกสู่ทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดเป็นกรณีศึกษาทั้งหมด 4 ประเทศด้วยกัน คือ มองโกเลีย เนปาล คาซัคสถาน และลาว โดยจุดเริ่มต้นของการศึกษานี้ ต้องการที่จะศึกษาว่า ประเทศมองโกเลียนั้น นิยมใช้เส้นทางใดในการขนส่งสินค้าออกสู่ทะเล และมีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้างในการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สาม มองโกเลียมีประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ คือ รัสเซียและจีน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น การค้าของประเทศโดยส่วนใหญ่มักจะทำการค้ากันในระดับทวิภาคี คือ ระหว่างมองโกเลียกับจีน หรือระหว่างมองโกเลียกับรัสเซีย โดยรูปแบบการค้ากับประเทศที่สามนั้น มีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณการค้าที่มีอยู่ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม เราจะพบว่า จากสถิติทางการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เริ่มเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับประเทศมองโกเลีย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศมองโกเลีย คือ เขาถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ด้อยพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ ประเทศนี้จึงมีความต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่งในการพัฒนาระบบการขนส่งและเครือข่ายของเขา เพราะหากไม่มีการขนส่งแล้ว การค้าก็คงจะเกิดขึ้นได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ไม่มีเส้นทางออกสู่ทะเลดังเช่น ประเทศมองโกเลีย เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีการใช้บริการการขนส่งทางทะเลในสัดส่วนที่มากกว่า 90% ของปริมาณการขนส่งทั่วโลก หากแต่ประเทศมองโกเลียก็พยายามที่จะลดความเสียเปรียบในด้านนี้ โดยการทำสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ สำหรับสินค้าผ่านแดนของเขา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการส่งออกในสินค้าประเภทแร่ทองแดง และผลิตภัณฑ์แคชเมียร์ โดยมองโกเลียมีการผลิตแคชเมียร์ประมาณ 30% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ประเทศหนึ่งก็ว่าได้ หากแต่สิ่งที่เรามองเห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับมองโกเลีย ก็คือ ระบบที่ใช้อยู่กันในปัจจุบัน เป็นระบบที่มีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าผ่านแดนจะสูงมาก ทำให้สินค้าที่มาจากมองโกเลียค่อนข้างจะมีปัญหาในการแข่งขันในตลาดโลก และในขณะเดียวกันยังทำให้สินค้านำเข้าที่มาจากประเทศอื่นมีราคาที่สูงตามไปด้วย ตอนที่ผมอยู่ที่มองโกเลียนั้น ผมรู้สึกดีใจมากที่เห็นสินค้าของไทยมีขายอยู่ในประเทศนี้หลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า หรือเสื้อผ้า แต่ผมก็รู้สึกตกใจที่เห็นราคาขายที่ค่อนข้างจะสูง แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ดีที่เราสามารถส่งสินค้าไปขายในมองโกเลียได้ เพราะมองโกเลียน่าจะเป็นตลาดที่น่าจะมีการขยายปริมาณการค้าในอนาคตได้ ในการศึกษาครั้งนี้ ผมพยายามที่จะศึกษาถึงกระบวนการในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ซึ่งท่าเรือหลักของประเทศมองโกเลีย ก็คือ ท่าเรือเทียนสินในประเทศจีน ท่าเรือนี้เป็นท่าเรือที่มีระยะทางใกล้ที่สุดสำหรับประเทศมองโกเลีย มีระยะทางห่างประมาณ 1,000 กิโลเมตรจากชายแดน และเป็นท่าเรือที่ถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงทวิภาคีเรื่องสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศมองโกเลีย จากชายแดนประเทศจีนเข้ามาที่เมืองหลวงอุลันบาทา ของประเทศมองโกเลียนั้น มีระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 2,000 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจ คือ รูปแบบการขนส่งหลักจะใช้การขนส่งทางรถไฟ โดยใช้เวลาประมาณ 7-9 วัน กว่าที่สินค้าจะเข้ามาถึงประเทศมองโกเลีย สำหรับจุดอ่อนของระบบนี้จะอยู่ที่การผ่านแดน เนื่องจากระบบรถไฟของมองโกเลียและของจีน มีความแตกต่างกันในแง่ของความกว้างของรางรถไฟ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนรถไฟและขนถ่ายสินค้ากันที่เมืองเอ้อเหลียง (เมืองชายแดนประเทศจีน) ก่อนที่จะเข้าไปในประเทศมองโกเลีย ซึ่งส่วนนี้จะเสียเวลามากที่สุดและทำให้เกิดคอขวดขึ้นในกระบวนการนำเข้าสินค้า รวมถึงทำให้ค่าขนส่งมีราคาที่สูงด้วย ระบบรถไฟของมองโกเลียนั้น เกิดจากการร่วมทุนระหว่างรัสเซียกับมองโกเลีย ทำให้ระบบนี้สามารถเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายทรานไซบีเรีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ให้บริการจากยุโรปตะวันออกไปสู่เมืองท่า Vladivostok ในฝั่งตะวันออกของรัสเซีย แม้ว่าประเทศมองโกเลียจะใช้เส้นทางการขนส่งหลัก คือ ท่าเรือเทียนสิน แต่ก็ยังมีการใช้เส้นทางการขนส่งอื่นบ้างเหมือนกัน เช่น ท่าเรือ Vladivostok ในรัสเซีย หรือการใช้ท่าเรือในยุโรป โดยการใช้การเชื่อมโยงจากระบบรถไฟของรัสเซีย ซึ่งมีระยะทางรวมทั้งสิ้นมากกว่า 8,000 กิโลเมตร ลักษณะที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของประเทศมองโกเลีย ก็คือ ประเทศนี้ เป็นประเทศที่มีวัตถุดิบในการผลิตเป็นจำนวนมาก และมีความต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น หากธุรกิจไทยมีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศนี้ ก็น่าที่จะทำได้ เพราะในปัจจุบันมีเพียง 2 ประเทศหลักเท่านั้นที่เข้าไปให้การสนับสนุน คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ประเทศเกาหลีใต้ ผมมองว่า จริงอยู่ที่มองโกเลียเป็นตลาดขนาดเล็ก หากแต่มองโกเลียก็เป็นประตูที่จะนำไปสู่การค้าในรัสเซียหรือตลาดในประเทศจีนตอนเหนือได้ ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างจะได้เปรียบ ถ้าเผื่อไปสร้างฐานการผลิตในมองโกเลียสำหรับการขายสินค้าให้กับรัสเซียและจีนตอนบน แม้ว่ากระบวนการในการทำธุรกิจในมองโกเลียจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในระดับที่พอใช้ได้ นอกจากนี้ ธุรกิจต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย ยังมีโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนและพัฒนาประเทศมองโกเลีย ดังนั้น ผมคิดว่า น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยที่จะใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของมองโกเลีย สำหรับการช่วงชิงตลาดในรัสเซียและจีนตอนบน
|
![]() |
กรุงเทพทัศนะ
หัวข้อ 5 อันดับ ล่าสุด
|
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() ![]() |
copyright @ 2000 Nation Group /
Produced & Designed by : KT Internet Dept. All Right Reserved, Contact us : ktwebmaster@bangkokbiznews.com ![]() |
![]() |