go




วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545


ข่าวหน้าหนึ่ง

ทัศนะวิจารณ์

เศรษฐกิจการเงิน

ธุรกิจการตลาด

การเมือง

ไอที-อินเทอร์เน็ต

เศรษฐกิจทั่วไทย

การศึกษา

ต่างประเทศ

กีฬา

จุดประกาย



เสาร์สวัสดี
จุดประกายวรรณกรรม

กรุงเทพวันอาทิตย์

ยานยนต์

กรุงเทพไอที

ถนนนักลงทุน

เนชั่นสุดสัปดาห์

หนังสือขายดี



สายเดินเรือแห่งชาติ หรือกองเรือแห่งชาติกันแน่

ดร. รุธิร์ พนมยงค์
หากรัฐจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซง ในธุรกิจพาณิชย์นาวี รัฐก็ควรจะตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ แต่เฉพาะในส่วนของน้ำมันเท่านั้น เพราะไทยไม่มีน้ำมัน และต้องพึ่งพาประเทศอื่นอยู่ตลอดเวลา

มติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติการขยายระยะเวลาการให้สิทธิพิเศษแก่ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) ไปจนถึงปลายปี 2545 ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่ในความเป็นจริงแล้ว บทด.เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ในการขนส่งสินค้าให้กับหน่วยงานของรัฐ เวลามีการส่งออก หรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่า บทด.จะมีการนำเสนออยู่ตลอดเวลาว่า ตนเองมีผลประกอบการที่ดี มีกำไรอย่างต่อเนื่อง

แต่มีสิ่งที่ผิดสังเกตอยู่หลายประการ ประการแรก คือ บทด.ได้ชื่อว่าเป็นสายเดินเรือแห่งชาติ แต่ไม่มีเรือเป็นของตนเอง ในขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นประเทศที่เสียเปรียบในทุกๆ ด้าน เมื่อเทียบกับประเทศไทย กลับมีเรือที่เป็นของรัฐบาลถึง 2 ลำด้วยกัน เราก็คงจะเห็นกันแล้วนะครับว่า ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมาก-น้อยเพียงใด

ปัจจุบัน บทด.มีลักษณะการให้บริการแบบเป็นนายหน้า คือ จัดจองระวางเรือให้แก่หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจสำหรับการซื้อ-ขายสินค้ากับต่างประเทศ หรือการซื้อ-ขายสินค้าระหว่างรัฐต่อรัฐ รายได้ของ บทด.จะเกิดจากการกินหัวคิว เพราะ บทด.เองเวลามีการประมูลราคาของหน่วยราชการมักจะค่อนข้างได้เปรียบ หรือ มีอภิสิทธิ์กว่าผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจเลยก็คือ ทำไมในปัจจุบันจึงมีการพยายามสร้างสายเดินเรือแห่งชาติขึ้นมา โดยการดึงสายเดินเรือของประเทศจีนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะว่า หากเป็นสายเดินเรือแห่งชาติแล้วก็เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน เป็นสิ่งที่ผิดประเด็นอย่างมาก

การที่รัฐพยายามให้สมาคมเจ้าของเรือไทย และผู้ประกอบการอื่นๆ เข้ามาถือหุ้น และรวมกันให้บริการเป็นหนึ่งสายเดินเรือแห่งชาตินั้น ผมว่าไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง น่าจะปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เพราะผู้ประกอบการไทยเอง หรือคนไทยที่เป็นเจ้าของเรือสามารถให้บริการได้แก่หน่วยงานของรัฐ เพียงแต่ว่าเมื่อมีการแข่งขันกันแล้ว ผู้ประกอบการเหล่านี้จะเสียเปรียบ เนื่องจากอภิสิทธิ์ของ บทด.นั่นเอง

ในส่วนของกองเรือแห่งชาตินั้น ถ้าจะมองกันก็จะเห็นว่า บริษัทเรือที่เจ้าของเป็นคนไทยพยายามเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกับ บทด. หรือให้มีการยกเลิกสิทธิพิเศษของ บทด. เราลองมามองกันในอีกมุมหนึ่งว่า หากมีการยกเลิก บทด.ไป การแข่งขันก็จะเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น การที่ บทด.มีสิทธิในการตั้งราคาที่สูงกว่าบริษัทเอกชน และหน่วยงานของรัฐก็จำเป็นต้องใช้บริการของ บทด.

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ภาษีของประชาชนไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า รัฐต้องเสียค่าขนส่ง ค่าระวางในอัตราที่สูงกว่าความเป็นจริง ในปัจจุบันค่าขนส่งไม่สูงนัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หน่วยงานของรัฐต้องใช้บริการของ บทด.

ดังนั้น แม้ราคาของ บทด.จะสูงกว่าบริษัทเอกชนอื่นๆ ถึง 10% ก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องใช้บริการ ทำให้ผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ ไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาล ในอดีตรัฐอาจต้องดำเนินนโยบายแทรกแซงเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้น

แต่ปัจจุบัน ความจำเป็นดังกล่าวไม่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะตลาดของพาณิชย์นาวีที่ค่อนข้างจะเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ รัฐควรจะปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาดน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่ในการวิเคราะห์ในเชิงลึก หากรัฐจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงในธุรกิจพาณิชย์นาวี รัฐก็ควรที่จะมีการตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ แต่เฉพาะในส่วนของน้ำมันเท่านั้น เพราะประเทศไทยไม่มีน้ำมัน และต้องพึ่งพาประเทศอื่นอยู่ตลอดเวลา

การที่รัฐไม่มีกองเรือของตนเองสำหรับการขนถ่ายน้ำมันย่อมจะกระทบต่อความมั่นคงในด้านของพลังงานของประเทศอย่างแน่นอน เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เราก็จะสามารถลำเลียงน้ำมันได้เอง แต่แปลกที่รัฐมองแต่เพียงว่าทำอย่างไรจึงจะขยายสิทธิของ บทด. ทำอย่างไรที่จะคงหน่วยงานที่ไม่จำเป็นแล้วในธุรกิจพาณิชย์นาวีเอาไว้ได้

เมื่อมองถึงลักษณะที่เป็นอยู่ของประเทศไทยแล้ว ถ้าเป็นในรูปของกองเรือแห่งชาติ หมายถึง เรือที่ชักธงไทย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า รัฐควรอย่างยิ่งที่จะต้องแยกประเด็นออกให้ชัดเจนว่า กองเรือแห่งชาติ ไม่ใช่ สายเดินเรือแห่งชาติ

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกกับรัฐบาลก็คือ ธุรกิจพาณิชย์นาวีเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง หากกฎระเบียบต่างๆ ไม่เอื้อต่อเจ้าของเรือไทย (เรือที่จดทะเบียนชักธงไทย) แล้ว บุคคลเหล่านี้ก็จะไปจดทะเบียนที่อื่น เพราะเขายังคงสามารถให้บริการได้อย่างเดิม ไม่ว่าจะจดทะเบียนชักธงประเทศใดก็ตาม สรุปแล้วเราก็คงต้องย้อนกลับไปมองว่ารัฐต้องการอะไร

ที่ผ่านมา ผมไม่เห็นว่า รัฐจะให้ความสำคัญกับประเด็นของสายเดินเรือแห่งชาติกับกองเรือแห่งชาติเท่าใดนัก มีการพูดถึงเป็นครั้งคราว เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่ก็เงียบหายเหมือนประเด็นเรื่องคอคอดกระ สิ่งหนึ่งที่รัฐจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจก็คือ พฤติกรรมของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก

การขนส่งเป็นบริการที่ตอบสนองการค้าระหว่างประเทศ โดยพฤติกรรมปกติแล้ว เวลาผู้ส่งออกเจรจาเรื่องการขนส่งสินค้า เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ F.O.B. คือ ผู้ส่งออกไทยจะรับผิดชอบค่าขนส่งในตัวสินค้าไปจนถึงท่าเรือในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการเลือกเรือหรือสายเดินเรือแต่อย่างใด

ในขณะที่ผู้นำเข้าก็มีลักษณะเดียวกัน โดยมักจะซื้อภายใต้เงื่อนไขที่ C.I.F นั่นคือ ผู้นำเข้าจะรับผิดชอบภาระในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อสินค้านั้นมาถึงที่ท่าเรือให้ประเทศไทย เรือจะถูกเลือกโดยผู้ขายในต่างประเทศ

นี่เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมโดยปกติของผู้นำเข้าและส่งออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนของสินค้าที่ขนส่งโดยเรือไทย หากเราจะแก้ปัญหา เราคงไม่สามารถแก้ปัญหาแบบแยกส่วนได้ คงต้องมองเป็นภาพรวม เพราะการขนส่งมีลักษณะเป็นอุปสงค์ต่อเนื่อง (Derived demand) กับการค้าระหว่างประเทศ หากไม่มีการขนส่งย่อมจะไม่มีการค้าระหว่างประเทศ

ในทิศทางกลับกันหากไม่มีการค้าระหว่างประเทศย่อมจะไม่มีการขนส่งเช่นเดียวกัน ดังนั้นการจะนำสายเดินเรืออื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายเดินเรือแห่งชาติ เป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือ


กรุงเทพทัศนะ
เวทีสาธารณะสำหรับ การ แสดงความคิดเห็น ผู้อ่านสามารถ ส่งบทความพิเศษ รายงานพิเศษ รายงานการวิจัย รายงานจากภาคสนาม เรื่องราวร้องทุกข์ หรือ จดหมาย มาได้ที่นี่
ชื่อคุณ :
หัวข้อ :
ข้อความ :

หัวข้อ 5 อันดับ ล่าสุด
267 . การหันมาสนใจเรื่องการพัฒนคุณภาพครูของรัฐบาล [ 1 ]
266 . บริษัท  Enron [ 0 ]
265 . สังคมไทยที่น่าอยู่(แต่)แอบแฝงด้วยอิทธิพลมืด [ 3 ]
264 . บริการด่วน [ 0 ]
263 . ช่วยเหลือคนตกงาน [ 0 ]




About Us I Suggestion I Site Map I GetThaiFont | Contact Us I Privacy Policy

copyright @ 2000 Nation Group / Produced & Designed by : KT Internet Dept.
All Right Reserved, Contact us : ktwebmaster@bangkokbiznews.com