go




วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2545


ข่าวหน้าหนึ่ง

ทัศนะวิจารณ์

เศรษฐกิจการเงิน

ธุรกิจการตลาด

การเมือง

ไอที-อินเทอร์เน็ต

เศรษฐกิจทั่วไทย

การศึกษา

ต่างประเทศ

กีฬา

จุดประกาย



เสาร์สวัสดี
จุดประกายวรรณกรรม

กรุงเทพวันอาทิตย์

ยานยนต์

กรุงเทพไอที

ถนนนักลงทุน

เนชั่นสุดสัปดาห์

หนังสือขายดี



มองมุมใหม่ : สายเดินเรือแห่งชาติ.... กำลังทำอะไรกันอยู่?

ผศ. ดร.รุธิร์ พนมยงค์
ในช่วงนี้ท่านผู้อ่านคงได้อ่านแต่ข่าว การทุจริตในแวดวงราชการ กันค่อนข้างมาก ทำให้ข่าวของ บริษัท ไทยเดินเรือทะเลไทย จำกัด (บทด.) ไม่ได้รับความสนใจ จากสื่อมวลชนไทยเท่าที่ควร

แต่ผมกลับได้อ่านข่าวนี้ในหนังสือพิมพ์และวารสารต่างประเทศ ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้ ก็คือ ผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พยายามจะเสนอรูปแบบการปรับปรุงโครงสร้างของ บทด. โดยเสนอแนะว่า สัดส่วนของผู้ถือหุ้นใน บทด. ควรเป็นดังนี้

กระทรวงการคลังถือหุ้น 39% การท่าเรือแห่งประเทศไทยถือหุ้น 10% สายเดินเรือจีนถือหุ้น 25% และภาคเอกชนไทย ทั้งในส่วนของสมาคมเจ้าของเรือไทยและผู้ประกอบการรายอื่นๆ ถือหุ้นรวมกันทั้งหมด 26% ของสัดส่วนทั้งหมด

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ก็คือ การนำเรื่องของ บทด. กลับมาพูดกันอีกครั้ง โดยอ้างเหตุผลว่า ภายหลังจากการปรับโครงสร้างของ บทด.แล้วนั้น บทด.จะไม่แข่งขันกับผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยโดยตรง แต่จะเป็นการให้บริการในเส้นทางยุโรปและเส้นทางสหรัฐอเมริกา

โดยมีเป้าหมายที่จะได้สัดส่วนทางการตลาดของการขนส่งสินค้าไทยประมาณ 20% หรือประมาณ 30,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ภายในระยะเวลา 10 ปี ภายใต้เป้าหมายนี้ การจะทำสำเร็จได้นั้น บทด.จำเป็นต้องมีเรืออย่างน้อย 33 ลำ เพื่อนำมาให้บริการบนเส้นทางยุโรปและเส้นทางสหรัฐอเมริกา

แต่ในปัจจุบัน บทด.ไม่มีเรือเป็นของตนเอง การตั้งเป้าหมายเช่นนี้ ผมจึงสงสัยว่าแล้ว บทด.จะเอาเงินจากที่ไหนมาซื้อเรือคอนเทนเนอร์จำนวน 33 ลำ การกำหนดวัตถุประสงค์ว่า จะต้องมีเรือ 33 ลำ ภายในเวลา 10 ปี จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเหลือเชื่อ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า มีเหตุผลอื่นอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้หรือไม่

ก่อนอื่นผมอยากจะทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า บทด.นั้นมีสิทธิพิเศษที่เกิดขึ้นจากมาตรการการสงวนสินค้าของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาในประเทศไทย การที่ บทด.ต้องการซื้อเรือ ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับ บทด. เพราะถ้าไม่สามารถมีเรือได้ หรือไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างของ บทด.ได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2545 นี้ บทด.ก็อาจจะถูกยกเลิกสิทธิพิเศษในการขนส่งสินค้าให้หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมติคณะรัฐมนตรีก็เป็นได้

ผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินที่ออกมานั้น ผมยอมรับว่า ยังไม่ได้อ่านผลการศึกษาฉบับจริง และอยากได้มาศึกษาดูบ้าง แต่เท่าที่ทราบมานั้น กระทรวงการคลังไม่ค่อยเห็นด้วยกับโครงการนี้เท่าใดนัก ตรงกันข้ามกับกระทรวงคมนาคมที่เห็นว่าโครงการนี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการพัฒนากิจการพาณิชย์นาวีของไทย

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกกับท่านผู้อ่าน ก็คือ หากเราศึกษาประกาศของกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญของการขออนุญาตเช่าและใช้เรืออื่นที่มิใช่เรือไทยในการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งสรุปได้ก็คือ บริษัทนั้นๆ จะต้องเป็นผู้ประกอบการขนส่งที่มีเรือไทยเป็นของตนเอง

แต่ บทด.นั้นไม่มีเรือไทยเป็นของตนเองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 แล้ว และเงื่อนไขในการเช่าหรือใช้เรืออื่นที่มิใช่เรือไทย จะต้องเป็นการเสริมจำนวนเรือหรือเสริมระวางทุกในเส้นทางเดินเรือเท่านั้น ซึ่งก็คือ ถ้า บทด.ต้องการเช่าเรือหรือเพิ่มระวางในการให้บริการ บริษัทจะต้องมีเรือเป็นของตนเองก่อน

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วปัจจุบัน บทด.สามารถเช่าเรือหรือเพิ่มระวางได้อย่างไร อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับเรือไทยตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2524) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมพาณิชย์นาวี พ.ศ. 2521 ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะมีประกาศของกระทรวง และกฎกระทรวง ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน

แล้วเหตุใด บทด.ถึงสามารถเช่าเรือหรือเพิ่มระวางมา เพื่อให้บริการขนส่งสำหรับหน่วยราชการได้ รวมทั้งการได้รับสิทธิพิเศษจากการเป็นสายเดินเรือแห่งชาติอีกด้วย

ผมเห็นว่า สิ่งนี้ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่จะต้องลงทุนในการซื้อเรือเป็นของตนเอง แต่ บทด.ไม่ต้องมีเรือ อีกทั้งยังสามารถใช้สิทธิพิเศษได้อีกด้วย ซึ่งถ้ามองกันตามกฎหมายแล้วนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของประกาศของกระทรวงคมนาคม

เราจะเห็นว่า มีการพูดถึงการปรับโครงสร้างของ บทด.กันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นของภาคเอกชนต่างๆ หากแต่ทำไมถึงไม่มีใครทักท้วงว่า การกระทำของ บทด.นั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และทำผิดมาตั้งแต่ปี 2533 แล้ว

คำถามที่ตามมาก็คงเป็นคำถามที่ว่า แล้ว บทด.ทราบหรือไม่ว่า ในการที่ บทด.ขอสิทธิการเช่าและใช้บริการเรือของสายเดินเรือต่างชาติในแต่ละครั้งนั้น บทด.ได้ทำผิดประกาศของกระทรวงคมนาคม

หาก บทด.ไม่ทราบว่าตนเองได้ทำผิดกฎหมายแล้วนั้น ทำไมหน่วยราชการจึงไม่มีระบบใดๆ ที่จะมาตรวจสอบหรือบอกว่า ในความเป็นจริงแล้วนั้น คุณได้ทำผิดกฎหมาย คุณไม่มีสิทธิในการดำเนินการอย่างที่คุณกำลังทำอยู่

รวมถึงเหตุใดจึงมีการลงนามอนุญาตในทุกครั้งของการขอเช่าเรือของ บทด. นี่เป็นคำถามที่ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับที่จะบอกว่า ขณะนี้ เกิดอะไรขึ้นกับกิจการพาณิชย์นาวีของไทย โดยเฉพาะในส่วนของ บทด.


กรุงเทพทัศนะ
เวทีสาธารณะสำหรับ การ แสดงความคิดเห็น ผู้อ่านสามารถ ส่งบทความพิเศษ รายงานพิเศษ รายงานการวิจัย รายงานจากภาคสนาม เรื่องราวร้องทุกข์ หรือ จดหมาย มาได้ที่นี่
ชื่อคุณ :
หัวข้อ :
ข้อความ :

หัวข้อ 5 อันดับ ล่าสุด
286 . เงินเดือน [ 0 ]
285 . เอ็ม  ลิ้งค์  รุกใหญ่ตลาดปี  46 [ 0 ]
284 . กฎหมายคุ้ครองเด็กให้ดี  หรือส่งเสริมให้เด็กเสีย [ 1 ]
283 . อะไรคือต้นกำเหนิดของปัญหาแม่อาย [ 2 ]
282 . ความคืบหน้าคดี  รตอ.ทำร้ายนศ. [ 3 ]




About Us I Suggestion I Site Map I GetThaiFont | Contact Us I Privacy Policy

copyright @ 2000 Nation Group / Produced & Designed by : KT Internet Dept.
All Right Reserved, Contact us : ktwebmaster@bangkokbiznews.com